Loading...
Ajinomoto Thailand
Banner of กินแล้วดีต่อใจ
Banner of กินแล้วดีต่อใจ

กินแล้วดีต่อใจ

"แม่บ้านที่รักออนไลน์" เล่มที่ 1
Page 3

กินแล้วดีต่อใจ
 

กว่า 2 ปีที่เราต้องเผชิญกับโควิด-19 ซึ่งเจ้าไวรัสตัวนี้ส่งผลกระทบไปทั่ว ทำให้หลายคนอ่อนล้า เครียด สภาพจิตใจห่อเหี่ยว การจัดการอารมณ์ด้วยงานอดิเรก การออกกำลังก็ช่วยได้ หรือการรับประทานอาหารก็ส่งผลโดนตรงต่อสมอง อารมณ์ และสุขภาพจิต สมองเราต้องทำงานตลอดแม้แต่ตอนนอนหลับ สมองจึงต้องการอาหารดี ๆ เพื่อสร้างเสริมการทำงานของสมองให้ดีขึ้น และปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น จากการศึกษาพบว่ามี 2 แนวทางใหญ่ๆ ที่อาหารสามารถช่วยพัฒนาสุขภาพจิตและการรับรู้ได้
 

1. การรับประทานเพื่อลดความเสียหายจากอนุมูลอิสระ และการอักเสบของสมอง

2. การรับประทานเพื่อช่วยส่งเสริมการทำงานของสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) ให้ทำงานได้ดีขึ้น
 

สารอาหารหรือวัตถุดิบที่ลดความเสียหายจากอนุมูลอิสระ การอักเสบของสมอง และช่วยเสริมการทำงานของสารสื่อประสาทมี ได้แก่ วิตามินชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะวิตามินบี 1 บี 6 บี 12  วิตามินซี และวิตามินอี ซึ่งมีอยู่ในอาหารหลายประเภท ดังนี้

วิตามินบี1 มีมากในอาหารจำพวก ข้าว ไข่แดง ปลา ถั่วเหลือง

วิตามินบี6 แนะนำให้รับประทาน ไข่ เนื้อสัตว์ จมูกข้าว ข้าวโพด กล้วย

วิตามินบี12 จะช่วยสนับสนุนการทำงานของกระแสประสาท ทำให้ความจำระยะสั้นดีขึ้น ลดความเสี่ยงการเป็นโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุราว 4 เท่า อาหารที่เหมาะสมประกอบด้วย ไข่ เครื่องในสัตว์ นม เนื้อสัตว์อื่น ๆ ที่มีไขมันต่ำ

วิตามินซี มีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระ พบในผลไม้จำพวกกีวี ฝรั่ง มะละกอ ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง

วิตามินอี มีมากในผักคะน้า ผักโขม ถั่ว อัลมอนด์ น้ำมันรำข้าว ธาตุเหล็ก ซึ่งจะช่วยส่งออกซิเจนเลี้ยงสมอง

ทั้งนี้ไม่ควรงดไขมัน เพราะร่างกายคนเรายังต้องการไขมัน และโครงสร้างสมองก็มีไขมันอยู่ถึง 60% การรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งไขมันที่ดีจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นและสร้างความแข็งแรงให้เซลล์สมอง อาหารที่ให้โอเมก้า 3 สูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู ปลาน้ำจืด ปลาดุก ปลาช่อน ปลาจะระเม็ด รวมถึงไข่แดง สาหร่ายทะเล เมล็ดเซีย เมล็กฟักทอง งา น้ำมันมะกอก น้ำมันทานตะวัน อาหารเหล่านี้ล้วนมีส่วนประกอบของไขมันดีซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

และยังมีกรดอะมิโนบางประเภทที่ร่างกายสร้างขึ้นเองไม่ได้แต่จำเป็นต่อสมอง เช่น ทริปโตเฟน พบได้ในเนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่ว กล้วยและนมถั่วเหลือง ส่วนกลูตาเมท ก็เป็นสารธรรมชาติพบมากในโปรตีน เช่น ไก่ หมู ปลา ซึ่งถ้าเราได้รับในปริมาณที่ต่ำเกินไปก็จะส่งผลต่อการเรียนรู้และจดจำ แต่หากได้รับมากเกินไปก็อาจไปทำลายเซลล์ประสาทได้  

การให้ความสำคัญกับอาหารสมองด้วยการเลือกอาหารที่เหมาะสม ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็จะทำให้เรามีสมองที่เปี่ยมประสิทธิภาพอยู่กับเราไปได้นาน ๆ แต่ที่เยี่ยมกว่านั้นคือการได้ลงครัวปรุงอาหาร ซึ่งทำให้คุณได้ควบคุมระดับอารมณ์ระหว่างการปรุง และใช้เวลานี้ในการผ่อนคลายและดื่มด่ำกับอาหารที่ดีต่อร่างกายและดีต่อใจ

https://www.samitivejchinatown.com/th/health-article/Top-Foods-for-Brain